ไรในหู

 

คันหู ก็เพราะมีไรหูไง

ถ้าเจ้านายเห็นน้องหมาน้องแมวมีอาการเกาหู แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่เมื่อเปิดดูหูแล้วเจอขี้หูดำปี๊เกรอะกรัง จะเช็ดหูน้องหมาน้องแมวก็ไม่ยอม แบบนี้น้องหมาน้องแมวอาจกำลังประสบปัญหาไรหูบุกเข้าให้แล้วล่ะ
⇔ ไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าไม่มี : ใครที่เปิดหูน้องหมาน้องแมวแล้วเจอแต่ขี้หู จะวางใจว่าไม่มีไรหูแอบอยู่ไม่ได้นะ เพราะไรหูเป็นปรสิตที่มีขนาดเล็กมาก พบได้บ่อยในน้องแมวมากกว่าน้องหมา อาศัยอยู่ในช่องหู และสามารถไปยังส่วนอื่นๆ ของผิวหนังได้
⇔ อาหารโปรด : ไรในหูจะกินไขมัน และเศษผิวหนังที่อยู่ในหูเป็นอาหาร
⇔ ขี้หูดำซ้ำซาก : น้องหมาน้องแมวที่มีไรหูจะมีขี้หูดำ เช็ดแล้วก็กลับมามีอีกอย่างรวดเร็ว
⇔ ติดได้ทุกตัวในบ้าน : ไรในหูสามารถเป็นได้ในสัตว์เลี้ยงทุกช่วงอายุ และติดต่อได้โดยตรง พบได้บ่อยที่ติดจากแม่สู่ลูกเกิดใหม่ และติดระหว่างสุนัขกับแมวได้ ดังนั้นหากมีสัตว์เลี้ยงหลายตัวควรทำการตรวจทุกตัวเพื่อรักษาพร้อมกันนะเจ้านายยย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก fb : HealthyPetZociety


ไรในหู (Ear mites)

คันหู ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เอาสำลีมาปั่นก็ไม่หาย คันจริ๊งมันคันอยู่ข้างใน คันหูทีไรขนลุกทุกที เมื่อเพลงนี้แว่วขึ้นมาก็ทำให้นึกถึงโรคในช่องหูทุกทีเลยนะครับ วันนี้ก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับการคันหูมาเล่าให้ฟังนะครับ โดยสาเหตุของอาการคันมาจากปรสิตภายนอกที่ชื่อว่า “ไรในหู” เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักกันมาบ้างแล้วนะครับ ถ้าคนไหนยังไม่เคยรู้จัก วันนี้เราจะได้มาทำความรู้จักกับเจ้าไรในหูกัน

ไรในหู (Ear mites) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Otodectes cynotis เป็นปรสิตที่อาศัยอยู่บนผิวด้าน ในช่องหูและบริเวณใกล้เคียง พบได้ทั้งในน้องหมาและน้องแมว อาศัยไขมันและเศษผิวหนังเป็นอาหาร น้องหมาและน้องแมวสามารถติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ที่เป็นอาการที่สามารถพบได้ คือ

  • สัตว์ป่วยจะมีขี้หูจำนวนมาก ลักษณะออกสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม
  • มีอาการคันหูรุนแรง ถ้าบางตัวสะบัดหัว จนเส้นเลือดฝอยที่ใบหูแตกจะทำให้ใบหูบวม หรือเกาหูจนเกิดการอักเสบ

บางรายเป็นรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อลุกลามไปจนทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น หัวเอียง เดินวน เดินเซ ได้ด้วยครับ

การรักษา ในปัจจุบันมียาที่ใช้สำหรับฆ่าตัวไรในหูทั้งในรูปแบบยาหยอดหลังบริเวณหลังคอและน้ำยาหยอดหู ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยกับน้องหมาและน้องแมว

การรักษาไรในหูนั้นมักจะใช้ยาหยอดบริเวณหลังคอ หรือน้ำยาหยอดหูในการฆ่าไรในหูร่วมกับการเช็ดทำความสะอาดช่องหูน้องหมาและน้องแมวไปด้วย และถ้ามีตัวใดตัวนึงในบ้านเป็น จะแนะนำให้ทำการป้องกันตัวอื่นๆที่บ้านไปด้วยกัน เพราะอย่างที่หมอได้กล่าวมาแล้วว่าการติดต่อของไรในหูนั้นติดต่อได้จากการสัมผัสกัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งเป็นทำให้สามารถติดต่อกับน้องหมาน้องแมวที่บ้านตัวอื่นๆได้ง่ายมากครับ

ดังนั้นตอนนี้น่าจะพอตอบคำถามได้แล้วนะครับว่า คันหู ไม่รู้ว่าเป็น(อะ)ไร หรือเปล่านะครับ ฮ่าๆ ลองสังเกตหูน้องหมาน้องแมวที่บ้านกันดูนะครับ

Referance : E. Guaguère, F. Beugnet, A Practical Guide To Canine Dermatology, 2008

น.สพ.เชาวลิต สุทธะลักษณ์
แผนกอายุรกรรม, แผนกโรคเบาหวาน, แผนกโรคผิวหนัง
โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน

ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.talingchanpet.net (รพส.ตลิ่งชัน)